วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานที่ท่องเที่ยวราชบุรี

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามตลาดน้ำคลองต้นเข็ม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของราชบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 80 กิโลเมตร ในราวปี พ.ศ. 2409 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองดำเนินสะดวกระยะทางกว่า 32 กิโลเมตร เชื่อมแม่น้ำแม่กลองที่บางนกแขวกกับแม่น้ำท่าจีนที่ประตูน้ำบางยาง และมีคลองซอยเล็ก ๆ มากมาย ทำให้ชาวบ้านในราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร สามารถเดินทางติดต่อกันทางน้ำได้สะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในภาพของตลาดลอยน้ำที่เต็มไปด้วยเรือพายลำย่อม บรรทุกสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าสวมเสื้อผ้าโทนสีเข้มแบบชาวสวน ใส่หมวกงอบใบลาน พายเรือเร่ขายแลกเปลี่ยนสินค้าในยามที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เริ่มค้าขายตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงช่วงประมาณ 12.00 น. ส่วนตลาดน้ำวัดปราสาทสิทธิ์ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่ยังคงวิถีชีวิตเดิม ๆ อยู่มากจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ และจะวายตั้งแต่ก่อน 08.00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอำเภอดำเนินสะดวก โทร. 0 3224 1023 หรือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวก www.tripdamnoen.freetzi.com

ล่องคลองชมตลาดน้ำดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก มี เรือพาย บริการนำเที่ยวพาไปดูสวน การทำน้ำตาลสด ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ราคา 300-400 บาท และมีเรือหางยาว บริการนำเที่ยวพาไปคลองดำเนินสะดวก ชมวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ราคา 600 บาท นั่งได้ประมาณ 8 คน สอบถามข้อมูลได้ที่ ท่าเรือยุวันดา โทร. 0 3224 1392, 08 6668 9471, 08 9161 0909

วัดเขาวัง

ตั้งอยู่บนเขาสัตตนาถ ซึ่งเป็นภูเขาลูกย่อม ๆ สูงประมาณ 44 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร มีทางรถยนต์ขึ้นถึงยอดเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังบนเขานี้เมื่อ พ.ศ.2416 เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับสั่งให้สร้างนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่เมืองลพบุรี แต่พระองค์เคยเสด็จไปประทับเพียงครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. 2420 เพื่อออกรับราชทูตโปรตุเกส หลังจากนั้นไม่ได้เสด็จไปประทับอีกเลยจนตลอดรัชกาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ อุทิศให้เป็นธรณีสงฆ์ ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาได้ซ่อมแซมบางส่วนดัดแปลงตำหนักต่าง ๆ เป็นโบสถ์ กุฏิสงฆ์ และต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด ด้านบนสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ตัวเมืองราชบุรีโดยรอบ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือเข้าชมเป็นหมู่คณะ โทร. 0 3231 2725

เมืองโบราณบ้านคูบัว

เมืองโบราณบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว เป็นโบราณสถานที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างซึ่งชี้ให้เห็นว่า ดินแดนราชบุรีแห่งนี้ เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี สถาปัตยกรรมในเมืองโบราณคูบัวได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากช่างสมัยราชวงศ์ คุปตะ ประเทศอินเดีย และมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมามากกว่า 1,000 ปี ส่วนโบราณวัตถุสำคัญต่าง ๆ ที่ค้นพบโดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูปสมัยโบราณ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี เมืองโบราณบ้านคูบัวพบหลักฐานกระจัดกระจายทั่วบริเวณหลายแหล่ง อาทิ โบราณสถานวัดโขลง ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัดโขลงสุวรรณคีรี ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางทิศใต้ตามถนนท้าวอู่ทองประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศเหนือและด้านใต้ด้านละ 3 มุข ทางด้านตะวันออกมีมุขยื่นออกมาเป็นบันไดทางขึ้น ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน มีมุขยื่นออกมาจากฐานด้านข้างด้านละ 3 มุม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานบัวโค้ง ถัดขึ้นไปเป็นอิฐก่อเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมประดับ ปูนปั้นรูปบัวฟันยักษ์ ชั้นถัดไปเป็นฐานหน้ากระดานรองรับซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหนือขึ้นไปเป็นเสาอิงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ระหว่างเสาเจาะเป็นซุ้มจระนำยอดแหลมสลับกับเสาอิงไปตลอดผนัง ส่วนบนของฐานโบราณสถานเป็นลานประทักษิณ ในการขุดแต่งได้พบปูนปั้นรูปเศียรเทวดา คนแคระ เชิงเทียนสำริดและลวดลายปูนปั้นอื่น ๆ

โบราณสถานหมายเลข 8 ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนวัดคูบัว มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 20.80 เมตร ความสูง 5.40 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอปูน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานมีช่องซุ้มสี่เหลี่ยมโดยรอบ ด้านบนเป็นลานประทักษิณ ชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ มีฐานบัวโค้งรองรับหน้ากระดานซึ่งมีซุ้มสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กรององค์ เจดีย์ มีร่องรอยของปูนฉาบ ที่ฐานบัวโค้งแต่ไม่ปรากฏร่องรอยการประดับประติมากรรมปูนปั้น

โป่งยุบ

ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 6 บ้านท่าเคย ตำบลท่าเคย อยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะแปลกตา ในเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินทำให้เกิดลักษณะโตรกผาคล้ายกับแพะเมืองผีจังหวัด แพร่ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. อัตราค่าเข้าชมคันละ 30-50 บาท หากมาเป็นหมู่คณะต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าชม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 1256 2550

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเดินทางจังหวัดราชบุรี

โดยรถไฟ:
จังหวัดราชบุรีมีทางรถไฟตัดผ่านที่อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองราชบุรี และอำเภอปากท่อ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และสถานีรถไฟธนบุรี ไปยังจังหวัดราชบุรีทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษ จากสถานีรถไฟกรุงเทพถึงอำเภอเมืองราชบุรีใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูลการเดินทางและราคาตั๋วโดยสารของการรถไฟแห่ง ประเทศไทย ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ www.railway.co.th และจองตั๋วรถไฟก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2220-4444 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

โดยรถยนต์:
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านบางแค อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ นครชัยศรี นครปฐม จนถึงราชบุรี หรือทางหลวงหมายเลข 338 จากกรุงเทพฯ ผ่านพุทธมณฑล ไปพบกับถนนเพชรเกษม บริเวณอำเภอนครชัยศรี ก่อนถึงตัวเมืองนครปฐมประมาณ 16 กิโลเมตร จากนั้นใช้ถนนเพชรเกษมต่อไปยังตัวเมืองราชบุรี

โดยรถประจำทาง:
มีรถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ราชบุรี และสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี (ผ่านอำเภอบ้านโป่ง) ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com

การเดินทางภายใน ราชบุรี

ในตัวจังหวัดราชบุรีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถ สองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสาม ล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง และหน้าสถานีรถไฟ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองราชบุรีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอวัดเพลง 15 กิโลเมตร

อำเภอบางแพ 22 กิโลเมตร

อำเภอปากท่อ 22 กิโลเมตร

อำเภอโพธาราม 26 กิโลเมตร

อำเภอจอมบึง 30 กิโลเมตร

อำเภอบ้านโป่ง 42 กิโลเมตร

อำเภอดำเนินสะดวก 50 กิโลเมตร

อำเภอบ้านคา 57 กิโลเมตร

อำเภอสวนผึ้ง 60 กิโลเมตร

วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จังหวัดราชบุรี

คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี
จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย เป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี มีความเป็นมาอันยาวนานและประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ราชบุรีในปัจจุบันจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีที่หลากหลาย ที่ผสมผสานและอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและลงตัว

ราชบุรีมีสถานที่ และกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ งานหัตถกรรมต่างๆ เช่น เครื่องปั้น เครื่องหล่อ เครื่องทอถัก เครื่องจักสาน และยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่งดงาม รวมทั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จึงเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญเมืองหนึ่งของภูมิภาค

จังหวัดราชบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 5,196.462 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,247,789 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 43 ของประเทศไทย มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านเขตจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ คือ พื้นที่ภูเขาสูง บริเวณชายแดนด้านตะวันตกติดกับสหภาพพม่า และด้านใต้ติดกับจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ราบสูงและที่เนินลอนลาด บริเวณถัดจากแนวเทือกเขามาทางด้านตะวันออก จนถึงตอนกลางของจังหวัด มีแม่น้ำภาชีและลำห้วยสาขาเป็นสายน้ำหลัก ที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และด้านตะวันออกของจังหวัด และที่ราบลุ่มต่ำ บริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลองที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรสงคราม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 1-2 เมตร

จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่ค้นพบทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันเคยมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่มาตั้งแต่สมัยยุค หินกลาง คือเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในพุทธศตวรรษที่ 12–13 และบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลองปรากฏหลักฐานการตั้งเมืองขึ้นจากชุมชนท่า เรือสินค้าจากต่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15–17 โดยมีพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหารเป็นประธานอยู่กลางเมือง

ในสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงยกกองทัพมารับศึกพม่าในเขตจังหวัดราชบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือสงครามเก้าทัพ ต่อมาปี พ.ศ. 2360 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้สร้างกำแพงเมืองใหม่และย้ายศูนย์บัญชาการเมืองไปที่ฝั่งซ้ายของ แม่น้ำแม่กลองเพื่อรับศึกพม่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมการทหารช่าง) ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาค และรวมเมืองราชบุรีเข้ากับหัวเมืองต่างๆ ใกล้เคียง คือ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ปราณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 เมือง ตั้งขึ้นเป็น “มณฑลราชบุรี” ตั้งศาลาว่าการมณฑลขึ้น ณ เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันคืออาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี) ต่อมาใน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่บัญชาการเมืองราชบุรีจากฝั่งซ้ายกลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับ ศาลาว่าการมณฑลราชบุรี กระทั่งถึง พ.ศ. 2476 มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิก และคงฐานะเป็นจังหวัดราชบุรีมาจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดราชบุรีแบ่งการ ปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอจอมบึง อำเภอสวนผึ้ง อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบ้านโป่ง อำเภอบางแพ อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ อำเภอวัดเพลง และอำเภอบ้านคา